Improvement
Physical Therapy at Sanpiti Case #1: Physiotherapy technique for oromandibular dystonia
Posted on
6 มิ.ย. 2567
Posted by
Sanpiti Physical Therapy
PT Recovery Journey
อาการกล้ามเนื้อหน้าและคางบิดเกร็ง (Oromandibular dystonia) คืออาการเกร็งของกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นบริเวณใบหน้าส่วนล่างและคาง ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติเช่น คางเบี้ยว กรามค้าง ส่งผลให้ไม่สามารถ ปิดปาก เปิดปาก ขยับเคลื่อนไหวกรามได้ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ ความผิดปกติของสมอง ผลข้างเคียงของการใช้ยา อุบัติเหตุและกรรมพันธุ์ มักจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการทานอาหารและการสื่อสาร เนื่องจากอาการบิดเกร็งทำให้กล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืนอาหาร การเคี้ยวอาหาร การพูด เคลื่อนไหวผิดจากรูปแบบปกติ ในกรณีที่มีอาการเกร็งมาก อาจทำให้เกิดความเจ็บปวดบริเวณใบหน้าและลำคอได้
อาการกล้ามเนื้อหน้าและคางบิดเกร็งนับเป็นหนึ่งในอาการหายาก ความชุกของโรคนี้พบได้เพียง 6.9 คนต่อประชากร 100,000 คนเท่านั้น โดยประชากรเพศหญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าเพศชาย 3 เท่า โดยอายุเฉลี่ยของผู้ป่วยโรคนี้คือ 45-75 ปี
กรณีตัวอย่างที่ทางแสนปิติได้ทำการรักษา ผู้ป่วยมาด้วยอาการอ้าปากค้าง ไม่สามารถปิดปากได้ ทำให้เกิดอาการช่องปากแห้ง มีแผลในช่องปาก ไม่สามารถกลืนน้ำลาย ทานอาหาร สื่อสารลำบาก หลังจากนักกายภาพบำบัดตรวจประเมินร่างกาย พบอาการเกร็งตัวค้างของกล้ามเนื้อบริเวณคาง (Platysma muscle) ส่งผลให้กระดูกกรามโดนดึงตัวลง ไม่สามารถปิดปากได้ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การทานอาหารและการพูดคุยได้อย่างปกติ จึงได้วางแผนการรักษาโดยมีเป้าหมายในการลดอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อและเพิ่มองศาการเคลื่อนไหวของข้อต่อกรามเป็นความสำคัญอันดับแรก
การรักษาอาการกล้ามเนื้อบิดเกร็งด้วยเทคนิค PNF (Proprioceptive Neuromuscular Facilitation)
เทคนิค PNF (Proprioceptive Neuromuscular Facilitation) เป็นการรักษาทางกายภาพบำบัดที่นิยมใช้เพื่อรักษาอาการผิดปกติของกล้ามเนื้อหลายรูปแบบ โดยเฉพาะเมื่อต้องการรักษาอาการกล้ามเนื้อเกร็งเพื่อเพิ่มองศาการเคลื่อนไหว ในกรณีของผู้ป่วยรายนี้ นักกายภาพบำบัดได้เลือกใช้ 2 เทคนิค คือ Contract-relax เป็นเทคนิคที่กระตุ้นการหดตัวของกล้ามเนื้อที่ต้องการรักษาโดยหวังผลการคลายตัวของกล้ามเนื้อในภายหลัง และ Agonist contract-relax ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้กระตุ้นการหดตัวของกล้ามเนื้อฝั่งตรงข้ามโดยหวังผลการคลายตัวของกล้ามเนื้อที่กำลังทำการรักษา
จุดสำคัญของการรักษานี้ คือการวางแนวแรงต้านที่ถูกต้องกับการหดตัวของกล้ามเนื้อคางและกล้ามเนื้อฝั่งตรงข้าม ซึ่งอาศัยความรู้ด้านกายวิภาคศาสต์และสรีรวิทยา รวมทั้งประสบการณ์ของนักกายภาพบำบัด เพื่อเลือกจุดวางมือและระดับแรงต้านที่เหมาะสมบนใบหน้าและคางของผู้ป่วย หากการวางแนวแรงต้านไม่เหมาะสม อาจทำให้การกระตุ้นกล้ามเนื้อเกิดขึ้นได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากข้อต่อกรามมีการเคลื่อนไหวที่ซับซ้อน สามารถขยับได้หลายทิศทาง นักกายภาพบำบัดจึงต้องออกแรงต้านในทิศทางที่กล้ามเนื้อที่กำลังทำการรักษาสามารถยืดและหดตัวได้มากที่สุด
ผลการรักษาทางกายภาพบำบัด
จากผลการตรวจประเมินร่างกายแรกรับ ผู้ป่วยไม่สามารถปิดปากด้วยตนเอง ไม่สามารถสื่อสารเป็นคำพูดหรือออกเสียง 1 พยางค์ได้เนื่องจากอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อคาง หลังจากทำการรักษาในครั้งแรก ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวกรามได้มากขึ้น สามารถปิดปากได้เกินครึ่งหนึ่งขององศาการเคลื่อนไหวทั้งหมด เริ่มออกเสียงคำ 1 พยางค์ได้แต่ยังไม่ชัดเจน หลังการรักษาติดต่อกัน 4 วัน ผู้ป่วยสามารถปิดปากได้สนิท สามารถออกเสียงพยัญชนะที่ต้องใช้การปิดปากออกเสียง เช่น บ.ใบไม้ ป.ปลา ผ.ผึ้ง ม.ม้า ได้ชัดเจน มีอาการช่องปากแห้งลดลง ส่งผลดีต่อการทานอาหารในชีวิตประจำวัน
Related Post